แปรรูปเพิ่มมูลค่า

โครงการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร โครงการร้อยใจรักษ์

   พื้นที่ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่เปราะบางและมีผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงของชาติ เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา และในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ ที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ค้าและลำเลียงยาเสพติดข้ามชายแดน นอกจากการจับกุมดำเนินคดีต่อกลุ่มผู้มีอิทธิพลดังกล่าวแล้ว การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน ลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ด้วยการสร้างโอกาสให้ชุมชนมีทางเลือกในการประกอบอาชีพสร้างรายได้อย่างสุจริต ถือเป็นแนวทางสำคัญในการแก้ปัญหายาเสพติดในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน 

   โครงการ “ร้อยใจรักษ์”  เริ่มต้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐทั้งจากส่วนกลาง ท้องที่ ท้องถิ่น ภาคเอกชน โดยมีมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน ด้วยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงาน ป.ป.ส. มีเป้าหมายในการน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการพัฒนาทางเลือก (Alternative Development) มาพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างมีส่วนร่วมในทุกมิติ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชน ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายอื่นๆ โดยมีระยะเวลาดำเนินงานทั้งสิ้น 9 – 12 ปี ดำเนินการในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยส้านและลุ่มน้ำห้วยเมืองงาม พื้นที่ประมาณ 37,119 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านเมืองงามเหนือ บ้านห้วยส้าน บ้านหัวเมืองงาม และบ้านเมืองงามใต้ ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ รวมประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 1,089 ครัวเรือน 4,371 คน

   หนึ่งในกิจกรรมพัฒนาที่โครงการฯ ให้ความสำคัญคือการพัฒนาด้านการเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพส่วนใหญ่ของชาวบ้านในพื้นที่กว่าร้อยละ 80 โดยเน้นการสร้างช่องทางตลาดรองรับผลผลิตทางการเกษตร สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านอย่างเป็นรูปธรรม ที่ผ่านมาโครงการฯ ร่วมกับบริษัท CP ในการสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงบ้านห้วยส้านในการพัฒนาคุณภาพมะม่วงให้ได้ตามมาตรฐานส่งออก สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 804,225 บาท (เพิ่มขึ้นจากเดิม 1.2 เท่า) อีกทั้งยังสนับสนุนพืชที่ชาวบ้านนิยมปลูกในพื้นที่ ได้แก่ ลิ้นจี่ ซึ่งที่ผ่านมาโครงการฯ ได้ช่วยประสานหาตลาดรับซื้อผลผลิตลิ้นจี่ และดำเนินการจ้างชาวบ้านในพื้นที่คว้านผลลิ้นจี่ร่วงบรรจุถุงแช่แข็งส่งโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 2 (แม่จัน) สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านจำนวน 13,928 บาท

   นอกจากนี้ยังร่วมมือกับสถาบันปิดทองหลังพระฯ ในการรับซื้อผลผลิตทุเรียนจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่โครงการผลิตทุเรียนคุณภาพเพื่อการส่งออก มาจำหน่ายในพื้นที่โครงการฯ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชาวบ้านพื้นที่ภาคใต้ สร้างรายได้แก่เกษตรกรในพื้นที่รวมกว่า 2,779,303 บาท และเป็นตัวอย่างการเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศด้วยการพัฒนาที่ประสบผลสำเร็จ

   อย่างไรก็ตามด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในช่วงปี 2563 ความแปรปรวนของสภาพอากาศซึ่งส่งผลต่อช่วงระยะเวลาสุกของผลผลิต และอายุการเก็บของผลผลิต ได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับการขนส่งและราคาในตลาด โครงการฯ พิจารณาเห็นว่าการส่งผลผลิตสดเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร จึงหาแนวทางที่จะแปรรูปผลผลิตเพื่อยืดอายุผลผลิตโดยการนำเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอาหารมาแปรรูปผลผลิตเข้ามาดำเนินการ โดยได้รับความร่วมมือสนับสนุนจาก KMITL FACTory Classroom สาขาวิชาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการออกแบบผังโรงงานแปรรูปผลผลิต วางระบบการจัดการ อุปกรณ์แปรรูปที่ต้องใช้ ตลอดจนสนับสนุนองค์ความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ของโครงการฯ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบภายในเดือนกรฎาคม 2563 นี้

   จากความร่วมมือดังกล่าว โครงการฯ คาดว่าจะสามารถยืดอายุของผลผลิต ตลอดจนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์การสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรได้เห็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ประสานติดต่อตลาดลิ้นจี่และจ้างชาวบ้านคว้านลิ้นจี่ส่งโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 2 (แม่จัน)
ร่วมกับ KMITL FACTory Classroom สาขาวิชาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการตั้งโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและองค์ความรู้ต่างๆ