ความเป็นมา

โครงการร้อยใจรักษ์

โจทย์การพัฒนาก็คือ “การพัฒนาชุมชนกึ่งเมืองกึ่งป่า ไม่ใช่โจทย์ป่าสงวน ไม่ใช่พื้นที่เกษตรกรรม แต่ เป็นชุมชนที่มีความเจริญทางวัตถุ บวกกับพื้นที่การเกษตร และมีคนรวยคนจน”
พระราชดำรัสสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา

   โครงการร้อยใจรักษ์ ดำเนินการโดยโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 37,119 ไร่ 4 หมู่บ้านหลัก 20 หมู่บ้านย่อย โดย 4 หมู่บ้านหลัก ได้แก่ บ้านห้วยส้าน บ้านเมืองงามเหนือ บ้านหัวเมืองงามและบ้านเมืองงามใต้ ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ประชากรอาศัยอยู่ในพื้นที่ประมาณ 1,132 ครัวเรือน 4,709 คน พื้นที่ตำบลท่าตอน เป็นพื้นที่เปราะบางและมีผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงของชาติ และเป็นที่รู้จักว่ามีปัญหาการค้าและลำเลียงยาเสพติดข้ามแดนอย่างรุนแรง เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา และในช่วงหลายปีที่ผ่านมาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ นายเล่าต๋า แสนลี่ อดีตราชายาเสพติดทางภาคเหนือ

   ภายหลังการจับกุมและดำเนินคดีเล่าต๋าแล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภานเรนทิราเพพยวดีกรมหลวงราชสาริณีสิริพัชรมหาวัชรราชธิดา ทรงเล็งเห็นว่าควรนำการพัฒนาเข้ามาเพื่อสร้างโอกาสและทางเลือกในการดำรงชีวิตให้ประชาชนในพื้นที่ ให้ชุมชนมีทางเลือกในการประกอบอาชีพ สร้างรายได้อย่างสุจริต ถือเป็นแนวทางสำคัญในการแก้ปัญหายาเสพติดในพื้นที่อย่างยั่งยืน ดังพระราชกระแสรับสั่งเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2561 ซึ่งทรงอธิบายให้คณะอนุกรรมการดำเนินงานระดับพื้นที่ โครงการร้อยใจรักษ์ เข้าใจถึงที่มาที่ไปของโครงการ ความตอนหนึ่ง ดังนี้

   “ในระหว่างการดำเนินการ ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับคดีและพื้นที่หลายอย่างจาก การทำงานกับทีมกองบัญชาการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ซึ่งทำงานอย่างเข้มข้นเพื่อให้ดำเนินคดีอย่างแน่นหนาและเป็นธรรม แต่คนอื่นที่เหลือ ในพื้นที่จะทำอย่างไรต่อ เป็นคำถามสำคัญที่จะต้องหาทางแก้ปัญหาให้คนเหล่านี้ด้วย เป็นที่รู้กันว่าในพื้นที่มีปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติดทั้งผู้เสพ ผู้ค้ารายใหญ่ รายย่อย ปัญหามีมานานและเรื้อรัง ผู้ค้ารายใหญ่และรายย่อยได้ถูกดำเนินการโดยกฎหมายแล้ว แต่ถ้าไม่ได้ทำการป้องกันหรือดำเนินการด้านอื่นในพื้นที่เลย ก็จะมีผู้ร้ายใหม่ๆ เกิดขึ้นมา ถ้าหากใช้การปราบปรามอย่างเดียวอาจสร้างความไม่ไว้วางใจและ สร้างความต่อต้านและเกลียดชังต่อเจ้าหน้าที่ได้ ซึ่งจะทำให้ปัญหาเกิดขึ้นอีก การปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่อาจไม่สามารถแก้ปัญหาปากท้องในระยะยาวและ ไม่สามารถเรียกคืนศักดิ์ศรีของชาวบ้านกลับคืนมาได้ ปัญหาเรื่องปากท้อง การศึกษา ที่ยังคงมีอยู่ในพื้นที่จะกลายเป็นปัจจัยหนุนให้ชาวบ้านหวนกลับไปเกี่ยวข้องกับ ยาเสพติดอีกครั้ง เพราะสามารถหาเงินได้มากกว่าการประกอบอาชีพสุจริต ตราบเท่าที่ไม่สร้างให้เกิดศักดิ์ศรีขึ้นในชุมชน และสังคมภายนอกยอมรับชาวบ้าน ห้วยส้าน จึงคุยกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ในการประชุมของ UNODC ที่กรุงเวียนนา เพื่อนำการพัฒนาเข้ามาแก้ไขราก ฐานของปัญหา และดูว่ากฎหมายและการพัฒนา จะเดินไปคู่กันได้อย่างไรบ้าง เมื่อห้ามไม่ให้ทำผิดกฎหมาย จะให้เขาทำอะไร จึงเกิดโครงการร้อยใจรักษ์ เพื่อร้อยใจทุกคนเข้ามาร่วมกัน ร้อยใจเพื่อความเจริญ ของชุมชน และสังคม โดยไม่เพียงชาวบ้านเท่านั้นแต่หมายถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย มีคำถามที่โดนถามบ่อยว่าช่วยคนค้ายาทำไม คำตอบคือ น้ำกิน น้ำใช้ และอาชีพ เป็นสิทธิพื้นฐานที่คนไทยทุกคนควรมี เราจะไม่ให้น้ำกินน้ำใช้เขาหรือ เขาไม่ใช่คนไทยหรือ ตรงนี้ต้องแยกให้ถูกว่าคนทำผิด ก็ต้องจัดการตามกฎหมาย ส่วนคนอื่น เราก็ต้องทำพัฒนาไปด้วย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะไม่บังคับใช้กฎหมาย และไม่ได้หมายความว่าเราไม่ป้องกันและปราบปราม แต่ต้องมาช่วยกันหาว่า การบังคับใช้กฎหมาย การปราบปราม และการพัฒนา มันจะไปด้วยกันได้อย่างไร ร้อยใจรักษ์จึงได้เริ่มต้น ด้วยการที่คุณชายเข้ามาหยั่งเสียงในพื้นที่ก่อน ตอนนั้น เรายังไม่ได้เข้ามาเพราะคดีของนายเล่าต๋ายังไม่เสร็จ เมื่อคดีเสร็จแล้วเราจึงเข้ามา”

บรรยากาศการประชาคม เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2560
ที่โรงเรียน ตชด.ศึกษานารีอนุสรณ์ 3 บ้านห้วยส้าน ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่

   โครงการ “ร้อยใจรักษ์” เริ่มต้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 เป็นการบูรณาการ ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐทั้งจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคท้องที่ท้องถิ่น จำนวน 263 คน และชาวบ้าน 208 คน รวมผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 471 คน รวม 64 หน่วยงาน โครงการร้อยใจรักษ์เป็นโครงการเพื่อร้อยใจทุกคนเข้ามาร่วมกัน ทำงานเพื่อความผาสุก มั่นคงและยั่งยืนของชุมชนและสังคม โดยมีมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน ด้วยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงาน ป.ป.ส. มีเป้าหมายในการน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการพัฒนาทางเลือก (Alternative Development) มาพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างมีส่วนร่วม ในทุกมิติตามศาสตร์พระราชาและตำราแม่ฟ้าหลวง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชน สร้างอาชีพทางเลือกที่สุจริตและหลากหลาย ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ระยะสั้น และ วางรากฐานสู่รายได้ที่มั่นคงในระยะยาว พัฒนาด้านการศึกษา และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดความเสี่ยงในการกลับไปค้ายาเสพติดของคนในชุมชน นั่นคือ ด้านอุปทาน (Supply) ควบคู่ไปกับกิจกรรมส่งเสริมด้านสุขภาพ ลดจำนวนผู้เสพผู้ติดยาเสพติด นั่นคือ ด้านอุปสงค์ (Demand) เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน มีระยะเวลา ดำเนินงานทั้งสิ้น 12 ปี ในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยส้านและลุ่มน้ำห้วยเมืองงาม