หลักการพัฒนา

“ช่วยเขา ให้เขาช่วยตัวเขาเอง”

นั่นคือ ความยั่งยืนของการพัฒนา คือ การที่ชุมชนสามารถดำเนินการ สานต่อ และต่อยอดการพัฒนาต่อไปด้วยตนเอง คิดเป็น วิเคราะห์ และแก้ไขปัญหาเอง และพึ่งพาตนเองได้

   มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ จึงดำเนินกิจกรรมพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ให้ชุมชนมีความมันคงและยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม พร้อมกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ “คิดเป็น ทำเป็น” พร้อมรับมือ กับการเปลี่ยนแปลงและเรียนรู้อยู่เสมอ ประกอบอาชีพ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ดูแลและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า พึ่งพาตนเอง และต่อยอดการพัฒนาได้ ดังนั้น การพัฒนาที่ยั่งยืน จึงใช้เวลา ค่อยเป็นค่อยไป ดังหลักการทรงงานและ แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ น้อมนำและประยุกต์ เป็นกรอบแนวคิด (Model) ของการพัฒนา เรียกว่า 3S Model ซึ่งแบ่งการพัฒนาสู่ความยั่งยืนเป็น 3 ระยะ ได้แก่ อยู่รอด (Survival) พอเพียง (Sufficiency) และยั่งยืน (Sustainability)

การพัฒนาขั้นอยู่รอด

เน้นการเข้าถึงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ได้แก่ น้ำ ดิน ป่า สาธารณูปโภค และสาธารณสุข พร้อมๆ กับกิจกรรมพัฒนาเพื่อลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ในการประกอบอาชีพสุจริต เพื่อให้คนในพื้นที่มีรายได้ เพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภค “ไม่ต้องกู้กิน กู้ใช้” และบุกรุกทำลาย ระบบนิเวศเพิ่มขึ้น อีกทั้งเริ่มบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วม โดยชุมชน

การพัฒนาขั้นพอเพียง

เน้นการเพิ่มผลิตภาพและมูลค่าของผลผลิตและการบริการ เพื่อให้คน ในพื้นที่ “พอกิน พอใช้” มีรายได้ที่มั่นคง สามารถปลดหนี้ได้บางส่วน หรือทั้งหมด มีการศึกษาสูงขึ้น รู้สิทธิและหน้าที่ ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ของชุมชน สืบสานวัฒนธรรม ตลอดจนร่วมกันบริหารจัดการ อนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบนิเวศ

การพัฒนาขั้นยั่งยืน

เน้นพัฒนาให้คนในพื้นที่ให้มีภูมิคุ้มกันตามแนวพระราชดำริ เช่น มีหลักประกันในชีวิต มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม จัดการระบบนิเวศ อย่างยั่งยืน มีกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ ชุมชน “คิดเป็น ทำเป็น” สามารถแก้ไขปัญหาและสานต่อแนวคิดการพัฒนาด้วยตนเอง รวมทั้งให้การช่วยเหลือ แบ่งปัน ถ่ายทอดความรู้ให้คนในและนอกชุมชน

   ทั้งนี้ แต่ละชุมชนมีทุนทางธรรมชาติและทุนทางอาชีพแตกต่างกัน ส่งผลให้ระดับ คุณภาพชีวิตแตกต่างกันไปด้วย บางชุมชนอาจอยู่ระดับอยู่รอด คือมีวิถีชีวิตที่ ไม่อดอยาก มีอาหารพอกินตลอดทั้งปี ไม่มีหนี้สินที่เกิดจากการกู้เพื่อมาซื้ออาหาร หรือใช้จ่ายในครัวเรือน บางชุมชนอาจอยู่ระดับพอเพียง คือ มีความสามารถ ในการชำระหนี้อย่างสม่ำเสมอเพราะเริ่มมีรายได้ที่ต่อเนื่องมากขึ้น มีการศึกษาที่ดี ชีวิตสุขสบายมากขึ้น และบางชุมชนอาจกำลังก้าวไปสู่ระดับยั่งยืน คือ การมีเงินออม ในครัวเรือน มีหลักประกันทั้งทางด้านรายได้ สุขภาพ การศึกษาและสามารถยืนอยู่ บนลำแข้งของตนเองได้อย่างมั่นคงจนสามารถต่อยอดไปสู่การเป็นเจ้าของกิจการได้ ในอนาคต เป็นต้น ดังนั้น จึงสำคัญมากที่ทีมปฏิบัติการพัฒนาจะต้องศึกษาและ วิเคราะห์ว่าชุมชนอยู่ในระดับไหน ต้องเติมเต็มจุดใดบ้าง จึงจะวางแผนการพัฒนา ที่เหมาะสมกับพื้นที่ได้ และพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป บนพื้นฐานที่มั่นคง แต่ยืดหยุ่น เพียงพอที่จะรองรับกับการพัฒนาของชุมชนที่มีระดับการพัฒนาแตกต่างกัน ในแต่ละด้าน เพื่อให้ชุมชน “ช่วยเขาให้ช่วยตัวเขาเอง” ได้อย่างแท้จริง

กระบวนการพัฒนาตามตำราแม่ฟ้าหลวง

“ช่วยเขาให้เขาช่วยตัวเขาเอง”

   นั่นคือ ความยั่งยืนของการพัฒนา คือ การที่ชุมชนสามารถดำเนินการสานต่อ และ ต่อยอดการพัฒนาต่อไปด้วยตนเอง คิดเป็น วิเคราะห์และแก้ไขปัญหาเอง และพึ่งพา ตนเองได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ถึงจุดนั้น ทีมปฏิบัติการพัฒนาทั้ง 3 ทีมต้องเดินคู่ไปกับชุมชน ตั้งแต่การสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมตั้งแต่แรกเริ่ม ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง พาทำ พร้อมทั้งพัฒนาทักษะและแนวคิดของชุมชนด้านการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป กระทั่งในที่สุด ทีมขับเคลื่อนการพัฒนาและทีมพี่เลี้ยงเป็นเพียงผู้ให้คำปรึกษา ในขณะที่ชุมชนและทีมอาสาพัฒนาเป็นผู้ลงมือทำ กล่าวคือ เมื่อชุมชนซึมซับ หลักการพัฒนา ลงมือทำอย่างต่อเนื่องจนเกิดความชำนาญ มีความเข้าใจกระบวนการ ตั้งแต่ต้นจนจบ เกิดความมั่นใจและสามารถลงมือปฏิบัติเองได้แล้ว ทีมขับเคลื่อน การพัฒนาและทีมพี่เลี้ยงจะถอนตัวออกจากพื้นที่เพื่อให้ชุมชนและทีมอาสาพัฒนา เป็นผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยตัวเองอย่างเต็มตัว

หลักการทำงาน

   โครงการร้อยใจรักษ์ดำเนินการภายใต้หลักการทำงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ คือ มุ่งเน้นการพัฒนาเชิงพื้นที่ ครอบคลุมทุกมิติ พร้อมทั้งบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ ภาคเอกชน และชุมชนเป้าหมายเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่าง มีส่วนร่วม สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงในระยะยาว ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน ในทุกกลุ่มระดับรายได้ รวมไปถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประกอบอาชีพสุจริต มีภูมิคุ้มกัน ต่อปัญหายาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายอื่นๆ อย่างยั่งยืน และเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ในชุมชนอย่างเป็นธรรม ซึ่งจะเป็นการลดความเสี่ยงที่ชุมชนจะกลับไปยุ่งเกี่ยวกับการค้า ยาเสพติด ในขณะเดียวกัน โครงการได้ดำเนินการเพื่อลดความต้องการของฝั่งผู้เสพ โดยการนำผู้ติดยาเสพติดที่สมัครใจในการเลิกเสพยาด้วยตนเองมาทำงานร่วมกับ โครงการ ควบคู่กับการดูแลบำบัด และฟื้นฟูอย่างใกล้ชิดของเจ้าหน้าที่ทหารและแพทย์ เป้าหมายระยะยาวคือ พัฒนาโครงการร้อยใจรักษ์ให้เป็นต้นแบบการแก้ปัญหายาเสพติด ในบริบทสังคมเมืองอย่างยั่งยืน ด้วยการใช้การพัฒนาทางเลือกเชิงพื้นที่ระยะยาวแบบ บูรณาการและรอบด้าน ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม จนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ขยายผลในพื้นที่อื่นได้ต่อไป อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้โครงการสามารถดำเนินการได้สำเร็จ บรรลุเป้าหมาย สามารถแก้ปัญหาของชุมชนได้อย่างยั่งยืน คือ การดำเนินการภายใต้ “หลักนิติธรรม” นั่นคือการบังคับใช้กฎหมายหรือกฎระเบียบชุมชนด้วยความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการตั้ง และบังคับใช้กฎระเบียบชุมชน โดยทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้กฎเดียวกันแม้กระทั่ง ผู้บังคับใช้กฎ